เทคนิคการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ Landscape






การถ่ายภาพทิวทัศน์ Landscape

การถ่ายภาพทิวทัศน์ หรือที่นักถ่ายภาพบ้านเรานิยมเรียกทับศัพท์ว่า แลนด์สเคป (Landscape) เป็นหนึ่งในหมวดหมู่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของการถ่ายภาพ ซึ่งในการจะถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ให้ออกมาสวยงามไม่ได้มีเทคนิคอะไรที่ซับซ้อน  แต่สำหรับมือใหม่ก็อาจไม่ใช่เรื่องง่าย

          คำว่า ภาพวิวทิวทัศน์ที่ดี อาจมองได้หลายมุม บ้างว่าต้องแสงสวย บ้างเน้นที่การจัดวางองค์ประกอบของภาพ บางคนว่าต้องมีอารมณ์อยู่ในนั้น บางความเห็นว่าต้องเป็นภาพที่มีความลึก และอีกสารพันคำตอบที่จะว่าไปแล้วก็แทบไม่มีข้อได้ผิด สำหรับมุมมองในส่วนของผู้เขียนเอง เห็นว่าทุกอย่างล้วนเป็นเรื่องไม่อาจละเลยได้ทั้งสิ้น ทว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ภาพวิวทิวทัศน์ภาพนั้น ๆ มีคุณค่ามีความหมาย ภาพ ๆ นั้น จะต้องสามารถแสดงความเป็นเอกลักษณ์ หรือจุดเด่นของสถานที่นั้น ๆ ออกมาให้ได้มาที่สุด และเงื่อไขอันจำเป็นที่จะเอื้อให้เกิดภาพอย่างที่ว่ามานั้นก็ขึ้นอยู่กับเรื่องของ "เวลา"

          ผู้ถ่ายภาพควรต้องมีเวลาให้กับสถานที่หนึ่ง ๆ มากเพียงพอ อย่างน้อย ๆ ควรมากกว่าหนึ่งวันขึ้นไป ทั้งนี้เพื่อสำรวจสถานที่ให้ละเอียด ค้นหาจุดเด่นของสถานที่ให้เจอ พร้อมกำหนดมุมภาพ กำหนดทางยาวโฟกัสของเลนส์ และกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการถ่ายภาพนั้น ๆ  


 เทคนิคพื้นฐานของการถ่ายภาพทิวทัศน์

          โดยทั่วไปแล้วการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ไม่ค่อยมีเทคนิคอะไรที่ซับซ้อน เพียงเน้นให้ภาพมีความคมชัด และสีสันที่สดใสเป็นหลัก และเป็นภาพในลักษณะที่ต้องการช่วงความชัดค่อนข้างมากเป็นพิเศษ คือมีความชัดตั้งแต่ฉากหน้าไปจนฉากหลังที่เป็นทิวเขาหรือท้องฟ้า ดังนั้นการฝึการควบคุมช่วงความชัดให้ได้ตามใจต้องการจึงเป็นสิ่งสำคัญ

          ปัจจัยแรกที่ส่งผลโดยตรงต่อช่วงความชัดก็คือ ช่องรับแสง หรือ เอฟนัมเบอร์ (F-STOP) การใช้ช่องรับแสงกว้าง ระหว่าง f/1.4 – f/4 จะส่งผลให้มีช่วงความชัดเกิดขึ้นน้อยอย่างที่เรียกกันว่า "ชัดตื้น" คือมีความชัดเกิดขึ้นเฉพาะในบริเวณจุดโฟกัสเท่านั้น ที่ไกลออกไปก็จะเบลอ ตรงกันข้ามกับการใช้ช่องรับแสงแคบ ตั้งแต่ f/11 ขึ้นไปที่จะส่งผลให้มีช่วงความชัดเกิดขึ้นมาก อย่างที่เรียกกันว่า "ชัดลึก" ซึ่งเหมาะสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์มากกว่า

          ปัจจัยตัวที่สองที่มีผลต่อช่วงความชัดก็คือ ตำแหน่งในการโฟกัสภาพ ลักษณะในการเกิดช่วงความชัดของภาพจะมีระยะเกิดขึ้นหน้าจุดโฟกัสหนึ่งส่วน และเกิดหลังจุดโฟกัสสองส่วน เป็นอัตราส่วน 1:2 อย่างนี้เสมอ หากทำความเข้าใจเรื่องนี้ได้ทะลุปรุโปร่งแล้ว จะทำให้เราสามารถสร้างช่วงความชัดที่เพียงพอต่อความต้องการ โดยการใช้เพียงช่องรับแสงกลาง ๆ เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องใช้ช่องรับแสงแคบ ๆ เสมอไป การโฟกัสภาพไปที่ระยะทางหนึ่งในสามของภาพนี้มีชื่อเรียกว่า "Hyper Fogus"




แสง ปัจจัยสำคัญลำดับต้น ๆ ของการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์

          แสงที่เหมาะสมสำหรับการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์นอกเหนือช่วงเวลาที่ฟ้าเปลี่ยนสีในยามพระอาทิตย์ขึ้น-ตก ก็คือแสงเฉียง ๆ ของยามเช้า และบ่ายแก่ ๆ ในทิศทางตามแสง เนื่องจากแสงลักษณะนี้จะทำให้ภาพวิวทิวทัศน์ดูมีมิติสวยงาม ทำให้ภาพถ่ายที่เป็นสื่อสองมิติอันแบนราบดูมีมิติที่สามหรือความลึกเกิดขึ้นแก่ผู้ชมภาพได้

    ทว่าสิ่งเหล่านี้มิใช่กฎเกณฑ์อันควรนำมาผูกมัดกับการถ่ายภาพอยู่ตลอดเวลา นักถ่ายภาพที่ดีควรรู้จักการพลิกแพลง เปลี่ยนแปลงนำสิ่งที่ดีที่สุดมาปรับใช้กับการถ่ายภาพของตนเอง

 อุปกรณ์ที่จำเป็นในการ ถ่ายภาพวิวทิวทัศน์

          แม้จะเป็นการถ่ายภาพในยุคซอฟท์แวร์ครองเมือง ที่แทบทุกเรื่องสามารถแก้ไข ดัดแปลง ตกแต่ง รีทัช ราวกับจะเสกสรรค์ปั้นแต่งขึ้นมาได้จากหน้าจอและเพียงปลายนิ้วสัมผัสบนคีย์บอร์ด ทว่ายังมีอุปกรณ์ทางกายภาพบางชนิดที่ยังคงความจำเป็นในระดับ "ขาดเธอขาดใจ" อุปกรณ์ที่ว่านี้คือ "ฟิลเตอร์โพลาไรซ์ (Polarizing Filter)

          หน้าที่หลักของฟิลเตอร์ชนิดนี้คือ การตัดแสงโพลาไรซ์ หรือก็คือ แสงสะท้อนสีขาว ๆ ที่เกิดบนวัตถุที่มีผิวเรียบหรือมันวาว เช่น ผิวน้ำ ใบไม้ที่มีความมัน กระจก ฯลฯ โดยสวมฟิลเตอร์โพลาไรซ์ไว้หน้าเลนส์ หมุนหาตำแหน่งที่จะตัดแสงสะท้อนออกไปในปริมาณที่พอใจ ซึ่งผลของการใช้ฟิลเตอร์ชนิดนี้สามารถสังเกตได้ทันทีจากในช่องเล็งภาพ จึงเป็นเรื่องง่ายในการใช้งานและประหยัดเวลากว่าการมาแก้ไขในภายหลัง

          นอกจากนี้ ฟิลเตอร์โพลาไรซ์ ยังช่วยให้สีสันของท้องฟ้ามีความเข้มขึ้น ทำให้ปุยเมฆขาว ๆ มีรายละเอียด ทั้งนี้ มีข้อแม้ว่าท้องฟ้านั้นต้องเป็นสีฟ้าอยู่ก่อนแล้ว มิใช่ขาวซีดไร้สีสัน และมุมที่จะถ่ายต้องอยู่ในทิศทางตามแสง

          อย่างไรก็ดี แม้ฟิลเตอร์โพลาไรซ์จะช่วยตัดแสงสะท้อน และเพิ่มความเข้มของสีท้องฟ้า แต่ในอีกด้านหนึ่งมันเป็นฟิลเตอร์ที่กินแสงมากถึง 2 สตอป หมายความว่าที่ช่องรับแสงเท่าเดิม เมื่อใส่ฟิลเตอร์โพลาไรซ์เข้าไปที่หน้าเลนส์แล้ว ความไวชัตเตอร์ที่ได้จะต่ำลงมาอีก 2 สตอปนั่นเอง จึงอาจจำเป็นที่จะต้องใช้อุปกรณ์ถ่ายภาพอีกอย่างหนึ่งเข้ามาช่วยเพื่อให้ได้ภาพที่มีทั้งช่วงความชัด(ลึก) และความคมชัดควบคู่กันไป

          ขาตั้งกล้อง ยังคงเป็นคำตอบสุดท้ายสำหรับนักถ่ายภาพผู้ฝักใฝ่ในคุณภาพสูงสุดอยู่ดี โดยเฉพาะในสภาพแสงช่วงเช้า ๆ หรือเย็น ๆ ซึ่งมีปริมาณและความเข้มของแสงน้อย เป็นเรื่องปกติที่จะให้ความไวชัตเตอร์ต่ำถึงต่ำมาก ประกอบกับที่ต้องใช้ช่องรับแสงแคบ ระบบลดความสั่นไหวในตัวกล้องหรือเลนส์จึงไม่อาจช่วยได้ทุกครั้งไป ขาตั้งกล้องจึงนับเป็นอุปกรณ์ถ่ายภาพที่ผู้หลงใหลการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์จะขาดเสียมิได้ 

          สำหรับขาตั้งกล้องที่ดีในการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ คือขาตั้งกล้องขนาดใหญ่และมีน้ำหนักค่อนข้างมาก ขาตั้งขนาดใหญ่และหนักจะทำให้กล้องมีความมั่นคงและนิ่งสนิทจริง แม้เมื่อมีลมปะทะ แม้ในยามที่ต้องตั้งกล้องไว้กลางลำธาร หรือแม้ตั้องปักรับรับแรงกระแทกของคลื่นลมริมหาดทราย 

          พึงจำไว้ว่าขาตั้งที่เล็กและเบานั้นดีเฉพาะตอนแบก แต่มันแทบจะไร้ประโยชน์ตอนใช้งานจริง ส่วนขาตั้งกล้องที่ใหญ่และหนักแม้ว่าจะดูเทอะทะเป็นภาระ และทำให้ช้าเวลาถ่ายภาพ แต่มันจะมีประโยชน์มาก ๆ เมื่อถึงเวลาต้องใช้งานจริง






ขอบคุณข้อมูลจาก
https://sites.google.com/site/camerawaystyles/thekhnikh-kar-thay-phaph/thekhnikh-kar-thay-phaph-wiw-thiwthasn-landscape

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เทคนิค การถ่ายภาพสายน้ำให้ดูนุ่มนวล ง่ายๆ จ้า